ที่ตั้ง ของ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พื้นที่และอาณาเขต

พื้นที่ของคณะวิทยาศาสตร์มีการเปลี่ยนแปลงอยู่หลายครั้ง เนื่องจากในสมัยแรกนั้นอาคารเรียนและแผนกวิชาต่าง ๆ ยังตั้งอยู่ในพื้นที่ กรม กอง ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์[137][138] ภายในเกษตรกลางบางเขน ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ขึ้นในปี พ.ศ. 2509 อาคารเรียนต่าง ๆ จึงเริ่มก่อสร้างขึ้นในพื้นที่ปัจจุบัน ซึ่งพื้นที่ของคณะวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันมีอาณาเขตทั้งสิ้นประมาณ 40,000 ตารางเมตร หรือราว 25 ไร่ ล้อมรอบด้วยถนน 4 ด้าน ได้แก่ ถนนระพี สาคริก (ทิศเหนือ) ถนนสุวรรณวาจกกสิกิจ (ทิศตะวันออก) ถนนชูชาติกำภู (ทิศตะวันตก) และถนนที่คั่นระหว่างคณะวิทยาศาสตร์กับโรงเรียนอนุบาลคหกรรมศาสตร์และกองเกษตรเคมี กระทรวงเกษตรฯ (ทิศใต้)[139]

โดยพื้นที่ด้านทิศเหนือ ประกอบด้วย ตึกสัตววิทยา และอาคารศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ 60 พรรษา พื้นที่ส่วนนี้อยู่ตรงข้ามกับสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และศูนย์เรียนรวม 1 (ศร.1) พื้นที่ด้านทิศตะวันออก ประกอบด้วย อาคารทวี ญาณสุคนธ์ (SCL) และตึกสุวรรณวาจกกสิกิจ พื้นที่ส่วนนี้อยู่ตรงข้ามกับคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พื้นที่ด้านทิศตะวันตก ประกอบด้วย อาคารวิฑูรย์ หงส์สุมาลย์ (ตึกฟิสิกส์) อาคารกฤษณา ชุติมา (ตึกเคมี) และอาคารยงยุทธ เจียมไชยศรี (ตึกชีวเคมี) พื้นที่ส่วนนี้อยู่ตรงข้ามกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พื้นที่ด้านทิศใต้ ประกอบด้วย อาคารสุขประชา วาจานนท์ (ตึกวิทยาศาสตร์ 25 ปี) และอาคารเรือนเพาะชำ พื้นที่ส่วนนี้อยู่ตรงข้ามกับโรงเรียนอนุบาลคหกรรมศาสตร์และกองเกษตรเคมี และพื้นที่กลางคณะฯ ประกอบด้วย ตึกสถิติ-คณิตศาสตร์-คอมพิวเตอร์ (ตึก SMC) ตึกจุลชีววิทยา-พันธุศาสตร์ อาคารศาลาลอย และอาคารวิทยาศาสตร์กายภาพ 45 ปี

ในส่วนของพื้นที่กลางคณะฯ บริเวณทางเชื่อมระหว่างตึกสถิติ-คณิตศาสตร์-คอมพิวเตอร์ และตึกจุลชีววิทยา-พันธุศาสตร์ มีต้นไม้สำคัญของคณะวิทยาศาสตร์ ได้แก่ ‘ต้นสาละลังกา’ ซึ่งสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงปลูกไว้เนื่องในโอกาสครบรอบ 27 ปี ของคณะวิทยาศาสตร์[140] โดยแต่เดิมนั้นทรงปลูกไว้บริเวณหน้าอาคารสุขประชา วาจานนท์ ก่อนจะย้ายมายังบริเวณปัจจุบัน

อาคารและสถาปัตยกรรม

ในพื้นที่ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีการพัฒนาทางกายภาพมาเป็นเวลากว่า 50 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งเป็นคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ จึงทำให้เขตพื้นที่ของคณะวิทยาศาสตร์มีอาคารที่แสดงถึงยุคสมัยต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี มีทั้งอาคารแบบสถาปัตยกรรมในยุคโมเดิร์น อาคารแบบสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัย ไปจนถึงอาคารที่ถอดแบบจากลักษณะ “จั่วสามมุข” อัตลักษณ์ทางปรัชญาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[141]

อาคารวิฑูรย์ หงส์สุมาลย์ (ตึกฟิสิกส์) | Physics Building เดิมชื่อว่า “ตึกฟิสิกส์” สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2512 เป็นอาคารหลังแรกของคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ ความสูง 5 ชั้น พื้นที่ประมาณ 3,096 ตารางเมตร[142] ออกแบบโดยองอาจ สาตรพันธุ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ด้านสถาปัตยกรรมร่วมสมัย ปี พ.ศ. 2552[143] รูปแบบของอาคารเป็นแบบสถาปัตยกรรมคอนกรีตเปลือย หรือ Brutalism ได้รับอิทธิพลจาก เลอกอร์บูซีเย (Le Corbusier) อย่างชัดเจน[144] แสดงให้เห็นถึงแนวความคิดสัจจะวัสดุ ซึ่งเป็นข้อบ่งบอกถึงความเป็นสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์น[145][146] ทางลาดโค้งทอดยาวด้านหน้าอาคารทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมต่อพื้นที่ภายนอกและภายในอาคาร สภาพของอาคารส่วนมากยังคงเดิมตามแบบฉบับ มีเพียงการปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่บางส่วนให้เหมาะสมกับลักษณะการใช้งานและจำนวนผู้ใช้ที่เปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย ถือว่าอาคารเป็นอาคารที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบร่วมสมัยเป็นอย่างมาก [147] โดยอาคารดังกล่าวถูกจัดให้เป็นอาคารที่ควรอนุรักษ์เป็นลำดับที่ 2 โดยคณะกรรมการอนุรักษ์อาคารและสิ่งก่อสร้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[148][149][150]

นอกจากนี้ อาคารเรียนฟิสิกส์หลังนี้ยังเคยใช้เป็นสถานที่ทรงพระอักษรในรายวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐานของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ขณะที่ทรงศึกษา ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วย[151]

ตึกสัตววิทยา | Zoology Building เดิมชื่อว่า “ตึกชีววิทยา” สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2515 เป็นอาคารหลังที่ 2 ของคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ ความสูง 5 ชั้น ซึ่งในสมัยนั้นใช้เป็นทั้งที่ทำการ ห้องทำงาน และห้องปฏิบัติการทางจุลชีววิทยา สัตววิทยา และพฤกษศาสตร์[152] ต่อมาได้มีการแยกสาขาวิชาทางชีววิทยาแขนงต่าง ๆ ออกไปจัดตั้งเป็น ‘ภาควิชา’ และสังกัดยังตึกใหม่ ได้แก่ ภาควิชาจุลชีววิทยา ภาควิชาพันธุศาสตร์ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ ภาควิชารังสีประยุกต์และไอโซโทป และภาควิชาสัตววิทยา (ดูแลสาขาชีววิทยาด้วย) ซึ่งภาควิชาสัตววิทยาได้รับการจัดสรรพื้นที่ให้สังกัดอยู่ที่ตึกชีววิทยาเดิม และต่อมาได้มีการปรับปรุงและก่อสร้างตึกใหม่แทนที่ตึกชีววิทยาเดิม โดยใช้ชื่อตึกใหม่ว่า “ตึกสัตววิทยา” [153][154] ปัจจุบัน ตึกสัตววิทยาใช้เป็นอาคารเรียนและปฏิบัติการของภาควิชาสัตววิทยาและสาขาวิชาชีววิทยา โดยที่บริเวณชั้น 1 เป็นที่ตั้งของ "พิพิธภัณฑ์สัตววิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์" จัดแสดงนิทรรศการและตัวอย่างสัตว์ในรูปแบบต่าง ๆ

ตึกจุลชีววิทยา-พันธุศาสตร์ตึกวิทยาศาสตร์กายภาพ ๔๕ ปี

อาคารกฤษณา ชุติมา (ตึกเคมี) | Chemistry Building สร้างในปี 2518 หลังจากที่คณะฯ ย้ายมาอยู่บริเวณพื้นที่ใหม่ทางฝั่งตะวันตกของประตูงามวงศ์วาน 1 ออกแบบและวางโครงสร้างอาคารโดยศาสตราจารย์ ดร.กฤษณา ชุติมา (หัวหน้าแผนกวิชาเคมีในขณะนั้น) ลักษณะเป็นอาคารเรียนและปฏิบัติการสูง 6 ชั้น มีดาดฟ้า พื้นที่ประมาณ 8,851 ตารางเมตร[155] ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของถนนหลวงสุวรรณฯ (ถือเป็นอาคารที่สูงที่สุดในมหาวิทยาลัย ณ ขณะนั้น)[156]

ตึกจุลชีววิทยา-พันธุศาสตร์ | Microbiology-Genetics Building เป็นอาคารเรียนและปฏิบัติการของภาควิชาจุลชีววิทยาและภาควิชาพันธุศาสตร์ ลักษณะเป็นอาคาร 6 ชั้น พื้นที่ประมาณ 6,118 ตารางเมตร[157] โดยชั้นที่ 1-3 เป็นที่ทำการภาควิชาจุลชีววิทยา และชั้นที่ 4-6 เป็นที่ทำการภาควิชาพันธุศาสตร์

ตึกชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มก.

อาคารศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ 60 พรรษา | The Princess Chulabhorn Science Research Center (In Celebration of Princess Chulabhorn's 60th Birthday) จัดตั้งขึ้นในปีที่คณะวิทยาศาสตร์ครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนา เพื่อเป็นสถานที่ส่งเสริมและสนับสนุนแผนงานของคณะวิทยาศาสตร์ภายใต้วิสัยทัศน์ Excellence in Natural Science in ASEAN by 2022 และเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของประเทศ (National Learning Significance) ลักษณะเป็นอาคารปฏิบัติการวิจัยรวม ความสูง 12 ชั้น และ 6 ชั้น ตัวอาคารถูกออกแบบมาให้ประหยัดพลังงานและมีการจัดการอาคารแบบ Green Energy Building ภายในประกอบด้วย หน่วยปฏิบัติการวิจัยเชี่ยวชาญเฉพาะทาง (Special Research Unit) ศูนย์เทคโนโลยีบ่มเพาะธุรกิจและผู้ประกอบการ (Technological Entrepreneurship) ศูนย์วิจัยร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น และได้รับพระกรุณาคุณจากศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระราชทานนามอาคารใหม่ของคณะวิทยาศาสตร์นี้ว่า “อาคารศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ 60 พรรษา” ตามหนังสือที่ รล 0011.3/10678 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560[158]

อาคารวิทยาศาสตร์กายภาพ ๔๕ ปี | Science 45 Years Building จัดตั้งขึ้นในปีที่คณะวิทยาศาสตร์ครบรอบ 45 ปีแห่งการสถาปนา ลักษณะเป็นอาคารเรียนและปฏิบัติการสูง 12 ชั้น สำหรับภาควิชาคณิตศาสตร์ ภาควิชาฟิสิกส์ ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ และภาควิชาสถิติ โดยในชั้นที่ 3 ของอาคารเป็นที่ตั้งของห้องประชุมสุมินทร์ สมุทคุปติ์ (Sumin Smutkupt Conference Room) และชั้นที่ 2 เป็นศูนย์อาหารคณะวิทยาศาสตร์ และบริเวณโถงชั้นล่างเป็นลานกิจกรรมรวมสำหรับนิสิตคณะวิทยาศาสตร์[159]

อาคารยงยุทธ เจียมไชยศรี (ตึกชีวเคมี) | Biochemistry Building เป็นอาคารเรียนและปฏิบัติการของภาควิชาชีวเคมี ตั้งอยู่ตรงข้ามกับภาควิชาวิศวกรรมวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลักษณะเป็นอาคาร 4 ชั้น พื้นที่ประมาณ 5,376 ตารางเมตร[160] ในอดีตที่บริเวณชั้น 1 เคยใช้เป็นทั้งห้องปฏิบัติการภาษาของคณะมนุษยศาสตร์ก่อนจะย้ายไปยังที่ทำการใหม่ และเคยใช้เป็นที่ทำการของภาควิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไปด้วย

ตึกสถิติ-คณิตศาสตร์-คอมพิวเตอร์ (ตึก SMC) | Statistics - Mathematics - Computer Science Building เดิมชื่อ “ตึกภาษา-สถิติ” ลักษณะเป็นอาคารเรียนและปฏิบัติการ ความสูง 5 ชั้น พื้นที่ประมาณ 4,590 ตารางเมตร[161] ในสมัยที่ยังเป็นคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ ซึ่งใช้เป็นทั้งที่ทำการภาควิชาสถิติของคณะวิทยาศาสตร์และยังใช้เป็นที่ทำการของคณะมนุษยศาสตร์ในสมัยแรกตั้งด้วย[162] ต่อมาเมื่อคณะมนุษยศาสตร์มีที่ทำการใหม่ในพื้นที่ใหม่แล้ว ตึกนี้จึงถูกใช้เป็นอาคารเรียนและปฏิบัติการของภาควิชาสถิติ ภาควิชาคณิตศาสตร์ และภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ในเวลาต่อมา

อาคารเรือนเพาะชำ | Nursery เป็นอาคารชั้นเดียว ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังอาคารสุขประชา วาจานนท์ เป็นแหล่งรวบรวมตัวอย่างและข้อมูลความรู้ทางด้านพืชและเป็นที่ตั้ง "พิพิธภัณฑ์องค์ความรู้ทางพฤกษศาสตร์" ของภาควิชาพฤกษศาสตร์ด้วย

อาคารสุขประชา วาจานนท์ (ตึกวิทยาศาสตร์ ๒๕ ปี) | Science 25 Years Building เดิมชื่อ “อาคารวิทยาศาสตร์ 25 ปี” ก่อนจะเปลี่ยนชื่ออาคารใหม่เป็น “อาคารสุขประชา วาจานนท์” [163]ก่อสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2536 เป็นอาคารเรียนและสำนักงาน ความสูง 5 ชั้น[164] เป็นทั้งที่ทำการสำนักงานเลขานุการคณะวิทยาศาสตร์ (ชั้นที่ 2) ที่ทำการภาควิชารังสีประยุกต์และไอโซโทป (ชั้นที่ 1) ที่ทำการภาควิชาพฤกษศาสตร์ (ชั้นที่ 3) ที่ทำการภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ (ชั้นที่ 4) และที่ทำการภาควิชาวัสดุศาสตร์ (ชั้นที่ 5) นอกจากนี้ยังได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก เสด็จเปิดอาคารเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พุทธศักราช 2536[165] ซึ่งตรงกับวันสถาปนาคณะวิทยาศาสตร์ ครบรอบปีที่ 27

อาคารทวี ญาณสุคนธ์ (SCL) | Science Laboratory Building ก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2538 สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2542 เดิมชื่อว่า “อาคารปฏิบัติการรวมวิทยาศาสตร์พื้นฐาน” ก่อนจะเปลี่ยนชื่ออาคารใหม่เป็น “อาคารทวี ญาณสุคนธ์”[166] และมักเรียกกันโดยทั่วไปว่า “ตึก SCL” รูปแบบเป็นอาคารปฏิบัติการวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ความสูง 10 ชั้น พื้นที่ประมาณ 15,000 ตารางเมตร[167] โดยอาคารดังกล่าวถูกออกแบบตามอิทธิพลแบบตะวันตกในสมัยนั้น และถูกออกแบบให้มีลักษณะด้านโพสต์โมเดิร์นแบบไทยร่วมสมัย ส่วนฐานมีลักษณะเป็นเสาหุ้มขนาดใหญ่และตกแต่งด้วยบัวทำให้ดูเสมือนฐานและส่วนของตัวอาคารแยกออกจากกัน นอกจากนี้ยังมีการเจาะหน้าต่างเป็นช่องอย่างเป็นระบบ[168] ทั้งนี้ ยังได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก เสด็จเปิดอาคารเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พุทธศักราช 2542[169] ซึ่งตรงกับวันสถาปนาคณะวิทยาศาสตร์ ครบรอบปีที่ 33

ตึกสุวรรณวาจกกสิกิจ | Suwan Vajokkasikij Building เป็นอาคารเก่า ก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2506 สถาปนิกผู้ออกแบบ คือ ผศ.ทองพันธ์ พูลสุวรรณ์ จุดประสงค์เพื่อใช้เป็นอาคารเรียนรวมของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในสมัยนั้น ลักษณะเป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น พื้นและผนังทำจากไม้ มีป้ายชื่ออาคารแกะจากไม้เขียนว่า “สุวรรณวาจกกสิกิจ” บริเวณชั้นบนของอาคารเป็นห้องบรรยายขนาด 300 ที่นั่ง และชั้นล่างเป็นใต้ถุนโล่ง ต่อมามีการปรับปรุงชั้นล่างให้เป็นพื้นที่สำนักงาน ซึ่งอดีตเคยใช้เป็นที่ทำการไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และที่ทำการธนาคารทหารไทย ทั้งนี้ อาคารดังกล่าวถูกจัดให้เป็นอาคารที่ควรอนุรักษ์เป็นลำดับที่ 3 โดยคณะกรรมการอนุรักษ์อาคารและสิ่งก่อสร้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[170]

  • หมู่ตึกในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • อาคารวิฑูรย์ หงษ์สุมาลย์ (ตึกฟิสิกส์) ออกแบบโดย อาจารย์องอาจ สาตรพันธุ์ พ.ศ. ๒๕๑๒
  • อาคารกฤษณา ชุติมา (ตึกเคมี)
  • อาคารสุขประชา วาจานนท์ (ตึกวิทยาศาสตร์ ๒๕ ปี)
  • ตึกสุวรรณวาจกกสิกิจ
  • อาคารศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ๖๐ พรรษา
  • อาคารสัตววิทยา

การตั้งชื่อและความหมายของชื่อตึกอาคารต่าง ๆ ภายในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นิยมใช้การตั้งชื่อจากชื่อบุคคลสำคัญผู้มีคุณูปการแก่คณะฯ คณบดี และพระบรมวงศานุวงศ์ เพื่อเป็นการยกย่องและรำลึกถึงบุคคลผู้มีคุณความดีนั้น ๆ เช่น อาคารทวี ญาณสุคนธ์[171][172], อาคารกฤษณา ชุติมา, อาคารสุขประชา วาจานนท์[173], อาคารวิฑูรย์ หงษ์สุมาลย์[174], อาคารยงยุทธ เจียมไชยศรี, อาคารศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ๖๐ พรรษา เป็นต้น และยังนิยมใช้การตั้งชื่อตึกอาคารจากวันและเหตุการณ์สำคัญของคณะฯ เช่น อาคารวิทยาศาสตร์กายภาพ ๔๕ ปี, อาคารวิทยาศาสตร์ ๒๕ ปี (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น อาคารสุขประชา วาจานนท์) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบการตั้งชื่อตึกอาคารจากภารกิจและพันธกิจของตึกอาคารนั้น ๆ เช่น ตึกสัตววิทยา ตึกจุลชีววิทยา-พันธุศาสตร์ ตึกสถิติ-คณิตศาสตร์-คอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมในการยกย่องผู้ทำคุณประโยชน์และสะท้อนความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของคณะวิทยาศาสตร์ ตลอดจนสะท้อนให้เห็นความมุ่งหมายในการก่อตั้งคณะฯ และจุดประสงค์ในการก่อสร้างตึกอาคารต่าง ๆ

พิพิธภัณฑ์

อาคารพิพิธภัณฑ์สัตววิทยา

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีพิพิธภัณฑ์เปิดให้ประชาชนได้เข้าชม พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวตั้งอยู่ตามภาควิชาต่าง ๆ ภายในพื้นที่ของคณะวิทยาศาสตร์ ส่วนใหญ่เป็นพิพิธภัณฑ์เชิงธรรมชาติวิทยาจัดแสดงความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพืชและสัตว์ โดยตัวอย่างที่จัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์เป็นตัวอย่างที่ได้จากการเก็บสะสมจากการสำรวจในภาคสนาม เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลสำหรับการเรียนการสอนและการวิจัย

พิพิธภัณฑ์สัตววิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (Zoological Museum Kasetsart University) ตั้งอยู่ที่บริเวณชั้น 1 ตึกสัตววิทยา เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2509 มีการเก็บรวบรวมตัวอย่างเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์สัตววิทยาเป็น 1 ใน 12 แหล่งเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ [175]

ภายในจัดแสดงนิทรรศการและตัวอย่างสัตว์ในรูปแบบความหลากหลายและวิวัฒนาการของอาณาจักรสัตว์ที่พบในประเทศไทย ตั้งแต่สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กไปจนถึงสัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับ นักเรียน นิสิต นักศึกษาและบุคคลทั่วไป นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งข้อมูลและพัฒนางานวิจัยด้านความหลากหลายของสัตว์โดยบุคลากรของภาควิชาสัตววิทยา ตัวอย่างที่เป็น highlights ของพิพิธภัณฑ์สัตววิทยามีความหลากหลายในแง่ สถานภาพใกล้สูญพันธ์ หายาก

พิพิธภัณฑ์สัตววิทยายังเป็นแหล่งข้อมูลด้านการวิจัยเกี่ยวกับความหลากหลายของสัตว์ให้กับนักวิจัยไทยและต่างประเทศโดยมีส่วนที่เป็นตัวอย่างอ้างอิงมาจากงานวิจัยของคณาจารย์ซึ่งมีการค้นพบชนิดพันธ์ใหม่ของโลกอย่างต่อเนื่อง เช่น แมลงชีปะขาว พยาธิตัวตืด ปาดเรียวมลายู เป็นต้น

พิพิธภัณฑ์องค์ความรู้ทางพฤกษศาสตร์ (Botanical Museum) ตั้งอยู่บริเวณเรือนเพาะชำของภาควิชาพฤกษศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ได้มีการเก็บรวบรวมตัวอย่างพืชมาตั้งแต่ในช่วงเริ่มก่อตั้งภาควิชาฯ กระทั่งในปี พ.ศ. 2536[176] จึงได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์พืชอย่างเป็นทางการ ต่อมาในปี พ.ศ. 2549 ได้ปรับปรุงเพิ่มเติมดังเช่นในปัจจุบัน ซึ่งภายในจัดแสดงตัวอย่างพืช ส่วนประกอบและโครงสร้างพืช วิวัฒนาการและความหลากหลายของพืช การใช้ประโยชน์ ตลอดจนพืชเศรษฐกิจ และบริเวณโดยรอบยังจัดแสดงพรรณไม้ซึ่งหาดูยากชนิดต่าง ๆ ไว้ด้วย[177][178][179]

ห้องสมุด

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีห้องสมุดกลางชื่อว่า ห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์ (อังกฤษ: Library, Faculty of Science; ชื่อย่อ: วิทยาศาสตร์ , Science)[180] และมีห้องสมุดเฉพาะด้านตามภาควิชา เช่น ห้องสมุดภาควิชาเคมี เป็นต้น ห้องสมุดของคณะวิทยาศาสตร์เป็นห้องสมุดระดับคณะ ตั้งอยู่ที่ ชั้น 2 อาคารทวี ญาณสุคนธ์ มีตำรากว่า 10,000 เล่ม และมีวารสาร 160 รายชื่อ[181] ตำราทุกเล่มถูกจัดจำแนกเป็นหมวดหมู่ด้วยระบบเดียวกับสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือใช้ระบบการจัดหมู่หนังสือแบบรัฐสภาอเมริกัน (Library of Congress)[182] ห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์เปิดให้บริการทั้งนิสิต คณาจารย์ บุคลากร ตลอดจนประชาชนทั่วไปในเวลาราชการ

ห้องสมุดภาควิชาเคมี (อังกฤษ: Library, Department of Chemistry, Faculty of Science; ชื่อย่อ: ภ.เคมี , Chem Dept)[183] เป็นห้องสมุดเฉพาะด้านในระดับภาควิชา ตำราส่วนใหญ่เป็นตำราวิชาการด้านเคมี ห้องสมุดภาควิชาเคมีเริ่มก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2512[184] โดยในช่วงแรกนั้นนิสิตเป็นผู้ดูแลกันเองก่อนที่จะพัฒนาจนกระทั่งมีเจ้าหน้าที่ประจำห้องสมุดมาดูแลอย่างเป็นทางการ ในส่วนของสถานที่ตั้งเดิมนั้นอยู่ที่ชั้น 6 ห้อง 602 ภาควิชาเคมี อาคารกฤษณา ชุติมา และต่อมาในปี พ.ศ. 2545 ได้มีการย้ายที่ตั้งมายังชั้น 1 ห้อง 101-105 ของอาคารกฤษณา ชุติมา ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งในปัจจุบัน และภายในปีเดียวกันห้องสมุดภาควิชาเคมีได้ทำการปรับปรุงระบบการจัดหมู่ตำราและระบบการสืบค้นโดยใช้ระบบเดียวกันกับสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ใกล้เคียง